"องคมนตรี" ติงหนุนการอ่านแผ่ว แนะ สพท.ตั้งกรรมการบริหารหลักสูตร กว่า 6 ปีของการปฏิรูปการศึกษา ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาทุกระดับยังต่ำ ความสามารถคิดคำนวณและคิดวิเคราะห์ของนักเรียนต้องปรับปรุง นับเป็นเรื่องเศร้าใจและเสียดายงบการศึกษาที่ทุ่มลงไปเฉลี่ยปีละกว่า 2 แสนล้านบาท กระนั้นก็ตาม การปฏิรูปการศึกษายังไม่สิ้นหวังเสียทีเดียว เพราะมีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอย่าง ศ.น.พ.เกษม วัฒนชัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และองคมนตรีคอยให้คำชี้แนะปฏิรูปการศึกษาผ่านการปาฐกถาและบรรยายพิเศษตามเวทีต่างๆ เป็นระยะๆ จากเวที "องค์กรแห่งการเรียนรู้" ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา องคมนตรี กล่าวว่า ข้อมูลวิจัยส่งเสริมการอ่านโดยมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กสรุปว่า เด็กไทยถ้าให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย อ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่ 6 เดือน พออายุเกือบขวบเมื่อคลานได้ วางของเล่นกับหนังสือไว้ เด็กจะเปิดหนังสือ และเข้าใจความหมายรูปภาพ "เด็กไทยไอคิวต่ำเป็นเพราะผู้ใหญ่กระทำ ไม่ใช่ธรรมชาติของเด็กไทยสมองไม่ดี ถ้าเปลี่ยนวิธีดูแลลูกและระบบการศึกษาใหม่ เชื่อว่าประเทศเราเจริญ ที่น่าเป็นห่วงตอนนี้เรื่องการเรียนรู้ บ้านเราลดเพดานการอ่านลงไปมาก แต่อังกฤษมีโครงการบุ๊คสตาร์ท หรือหนังสือเล่มแรกของชีวิตให้เด็ก 6 เดือน เวลาแม่พาลูกไปฉีควัคซีน รัฐบาลจะให้ถุงที่มีคู่มือเลี้ยงลูก หนังสือไว้อ่านให้ลูกฟัง" อย่างยุโรป อเมริกาตั้งศูนย์วิจัยการทำงานของสมองมนุษย์ ทำให้วิธีคิด เช่น เลี้ยงลูก การศึกษา การทำงานเปลี่ยนไป แต่โดยสรุปสมองมนุษย์เรียนรู้ตั้งแต่เกิดจนตาย เริ่มจากในท้องแม่ และเด็กเล็กเรียนรู้ก่อนพูดได้ 1-2 เดือน จากนั้นเรียนรู้ตามวัยอนุบาล ประถม มัธยม อุดมศึกษา วัยทำงานและวัยชรา ศ.น.พ.เกษม แนะด้วยว่าการพัฒนาเด็กทั้งบ้าน วัดและโรงเรียน จะต้องร่วมมือกันไม่แยกออกจากกัน โดยเฉพาะเด็กๆ จะต้องเรียนรู้ "ธรรมะ" ของพระพุทธเจ้า เพื่อฝึก ดัดหรือควบคุมจิตใจ เพราะใจคนเราเหมือนน้ำจะไหลลงที่ต่ำอยู่เรื่อยๆ เช่น เล่นพนันบอล ดื่มเหล้า หากปล่อยให้สัญชาตญาณพื้นฐานมาควบคุมจิตใจ ดังนั้น การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ ครูอาจารย์ จะต้องออกมาเพื่อดัดใจให้เด็กรู้จักควบคุมจิตใจ ศ.น.พ.เกษม ยังแนะแนวทางปฏิรูปการศึกษาผ่านเวที "ยุทธศาสตร์เชิงรุกการเรียนการสอนในห้องเรียน" ที่ศูนย์การประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ว่าการบริหารโรงเรียนเพื่อการเรียนรู้ จะต้องดำเนินการในหลายระดับ คือระดับโรงเรียน ทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะต้องจัดระบบธรรมาภิบาลโรงเรียนให้ชัดเจน เพื่อให้รู้ว่าคณะกรรมการสถานศึกษาและผู้บริหารโรงเรียนแต่ละฝ่ายมีบทบาทอย่างไร ผู้บริหารโรงเรียนต้องมองงานใน 2 ส่วน คือ ส่วนแรกงานบริหารโรงเรียน บริหารบุคลากร บริหารการเงิน เป็นต้น ควรตั้งคณะกรรมการบริหารโรงเรียนขึ้นมา 1 ชุด มีครูใหญ่เป็นประธาน และครู 3-4 คนเป็นกรรมการร่วมกันตัดสิน ส่วนที่สอง ผู้บริหารโรงเรียนตั้งคณะกรรมการบริหารหลักสูตร โดยครูใหญ่เป็นประธาน มีครูที่เป็นหัวหน้า 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ครูฝ่ายแนะแนวและกิจกรรมเป็นกรรมการ เพื่อบริหารหลักสูตรแกนกลางและหลักสูตรท้องถิ่น เพราะ ศธ.ให้แบ่งสัดส่วนเป็น 70% ต่อ 30% "บางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ไม่ให้ความสำคัญกับหลักสูตร ทั้งๆ ที่การบริหารหลักสูตรสำคัญที่สุด ครูจะได้รู้ว่าสอนอะไร โรงเรียนต้องประสานกับ สพท.ร่วมกันตั้งคณะกรรมการบริหารหลักสูตรท้องถิ่นระดับ สพท. ส่วน สพท.ก็ตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดและภาค เพื่อกำหนดเนื้อหาหลักสูตรท้องถิ่นแต่ละภาคเรียน เช่น เด็กอยู่ จ.ลำพูน ควรรู้เรื่องอะไรในชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัดและภาคเหนือ แต่ละระดับมีสัดส่วนเท่าไรจาก 30%" ศ.น.พ.เกษม กล่าว องคมนตรี ระบุการประเมินผลการเรียน ต่อไปจะมีมาตรฐานมากขึ้นเพราะมีการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ เด็กชั้น ป.3 ป.6 ม.3 และ ม.6 ในปีการศึกษา 2549 โดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หากวัดผลแบบเป็นกลาง ตรงไปตรงมา ไม่มีข้อสอบรั่ว เมื่อพบพื้นที่ไหนมีปัญหา ศธ.ต้องลงไปพัฒนาปรับปรุง เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์อ่อน ศธ.ก็ทุ่มงบลงไปปรับปรุง แต่มีเงื่อนไขการเมืองอย่าเข้ามายุ่งเกี่ยวการแต่งตั้งโยกย้ายคน การจัดซื้อจัดจ้าง ถ้าทำได้ประเทศไทยจะเจริญ องคมนตรียังแนะนำว่า คนที่จะมาเป็นครูจะต้องเป็นคนรักและรู้จักเด็ก ถ้าไม่ชอบเด็กต้องออกจากการเป็นครูเพราะจะไปทำลายเด็กได้ ครูต้องมีความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เพราะครูที่รู้แต่ทางโลก เป็นครูครึ่งเดียว เนื่องจากทุกวิชามีธรรมะสอดแทรกอยู่เสมอ ที่สำคัญครูต้องรู้จักบูรณาการระหว่างวิชา ควรพาเด็กไปเรียนรู้ในชุมชนครึ่งวัน เพื่อไม่ให้เด็กเป็นหุ่นยนต์ เพราะไม่รู้จักชุมชนและสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว "โรงเรียนควรตั้งชมรมวิชาการ หรือชมรมกิจกรรมนักเรียน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และทำกิจกรรมนอกหลักสูตรที่สนใจ จะได้รู้ว่าอยากเรียนต่อด้านใดในระดับอุดมศึกษาและทำอาชีพอะไรในอนาคต" องคมนตรี กล่าวในที่สุด 0 ธรรมรัช กิจฉลอง 0 รายงาน